วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รายวิชา ศิลปะ ม.3

สถาปัตยกรรมของไทย

            ไทยเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมในการก่อสร้างอาคารที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยมาแต่โบราณ เห็นได้จากการก่อสร้างปราสาท สถูป เจดีย์ ปรางค์ โบสถ์ วิหาร ตลอดจนเรือนไทย

ประเภทของสถาปัตยกรรมไทย ได้แก่

            1. ปราสาท ในสมัยโบราณไม่ปรากฏรูปร่างว่าเป็นอย่างไร เท่าที่พอจะเดารูปร่างลักษณะได้ก็ต้องอาศัยเรื่องราวต่างๆ ประกอบ เช่น ปราสาทปิดทองอร่ามตาของพระเจ้าปราสาททอง เป็นต้น แต่หลักฐานที่พอจะเชื่อได้แน่ก็คือ บรรดาปราสาทในสมัยรัตนโกสินทร์ในระยะแรกสร้างกรุงเทพมหานคร โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเลียนแบบอย่างปราสาทในสมัยอยุธยามาสร้าง เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก็สร้างตามแบบอย่างพระที่นั่งสรรเพชญที่มี “มุขเด็จ” (มุขสำหรับเสด็จออก) อยู่ด้านหน้าเหมือนกัน             ปราสาท หมายถึง เรือนที่มียอด เข้าใจว่าตั้งแต่แรกสร้างคงเป็นไม้ ในภายหลังเมื่อบ้านเมืองเรียบร้อยแล้วจึงแก้ไขให้ทนทานถาวรขึ้นกว่าเดิม ในการที่จะกล่าวถึงเรื่องของปราสาทนี้น่าจะรู้ถึงพระราชวัง พระราชฐาน และพระราชมณเฑียร ประกอบด้วย พระราชวังเป็นคำที่หมายถึง “พระบรมมหาราชวัง” ทั้งหมด แต่คำว่า พระราชฐาน หมายถึง การแบ่งส่วนภายในพระราชวัง เช่น พระราชฐานชั้นนอก พระราชฐานชั้นใน เป็นต้น ส่วนคำว่า พระมหามณเฑียร จะหมายถึงเฉพาะที่ประทับส่วนพระองค์มากกว่า
             นอกจากนี้ยังมีคำว่า พระที่นั่ง ซึ่งหมายถึง สถานที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงใช้สำหรับทั้งส่วนพระองค์และส่วนราชการบ้านเมือง เรียกพระนั่งต่างๆ ตามชื่อที่ตั้ง แต่ที่ควรสังเกต คือ พระที่นั่งองค์ใดมียอด เรียกว่า ปราสาท เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท แต่ถ้าเป็นพระที่นั่งองค์ที่ไม่สำคัญ แม้ว่าจะมียอดก็ไม่เรียกว่าปราสาท เช่น พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ พระที่นั่งศิวาลัย พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ ก็ไม่ออกชื่อปราสาท
            การสร้างปราสาทในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์นิยมทรงสร้างทุกพระองค์ ดังนี้
                 - พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1
                 - พระที่นั่งมหิศรปราสาท รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างเพื่ออุทิศแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
                 - พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3
                 - พระที่นั่งศิวาลัย สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นพระที่นั่งปราสาทห้ายอด
                 - พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สร้างในรัชกาลที่ 5
            2. เจดีย์ หมายถึง สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อให้ระลึกถึงทางธรรม หรือระลึกถึงพระพุทธเจ้า เจดีย์ทางพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น 4 อย่าง คือ
                 2.1 บริโภคเจดีย์ คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าใช้สอยอยู่เป็นประจำ เช่น บาตร จีวร ซึ่งหาไม่ได้แล้ว และยังมีต้นไม้ต่างๆ เช่น ต้นจิก ต้นเกตุ ต้นโพธิ์ นอกจากนี้ยังได้แก่สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ประทานปฐมเทศนา ปรินิพพาน และที่ถวายพระเพลิง
                 2.2 ธาตุเจดีย์ คือ พระอัฐิ พระเกศา พระนขาของพระพุทธเจ้าซึ่งสร้างเพื่อเคารพกราบไหว้หรือเป็นเจดีย์ที่เรียกกันว่า พระปฐมเจดีย์ ที่จังหวัดนครปฐม พระบรมมหาธาตุ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพระอัฐิของพระพุทธเจ้าบรรจุอยู่
                 2.3 ธรรมเจดีย์ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ให้ระลึกถึงว่าเมื่อท่านอยู่ท่านสั่งสอนอะไรบ้าง
                 2.4 อุเทสิกเจดีย์ คือ สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศในพระพุทธศาสนา
            เจดีย์มีส่วนประกอบ 3 อย่าง คือ
                 1. องค์เจดีย์ บางทีเรียกว่า ระฆัง หมายถึง การก่อพูนอิฐหรือหินให้เป็นเนินกลมๆ ซึ่งมาจากกองเถ้าของฟืนที่เผาศพของคนอินเดีย การถวายพระเพลิงพระศพของพระพุทธเจ้าก็ทำในลักษณะเช่นนี้
                 2. แท่นหรือฐาน ตั้งซ้อนบนองค์สถูปใช้แทนพระพุทธองค์ เพราะสมัยโบราณที่ยังไม่มีพระ พุทธรูปนั้น คนอินเดียได้ใช้แท่นหรือฐานเป็นสิ่งแทนพระพุทธองค์
                 3. ยอด เดิมเป็นฉัตรกลมแบบอินเดีย ใช้ปักบนฐานแสดงว่าพระพุทธเจ้าเป็นรัชทายาทที่มีเกียรติศักดิ์สูง ต่อมาดัดแปลงเป็นยอดเจดีย์ที่เห็นทุกวันนี้
            เจดีย์ในประเทศไทยมี 3 แบบ คือ เจดีย์กลม เจดีย์เหลี่ยม และเจดีย์ย่อมุม เจดีย์องค์สำคัญจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า เพราะเจดีย์เป็นสิ่งที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า จึงนิยมสร้างให้สวยงามมากที่สุดเพื่อให้คนที่ได้พบเห็นเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เจดีย์ที่สำคัญที่สุดในเมืองไทย คือ พระปฐมเจดีย์ ที่จังหวัดนครปฐม
            3. ปรางค์ หรือที่เรียกว่า พระปรางค์ มีอยู่ทั่วไปตามวัดต่างๆ เดิมไม่ใช่ของพระพุทธศาสนา แต่ถือว่าปรางค์เป็นเจดีย์อย่างหนึ่งจึงมีการสร้างในวัดหลายแห่ง เช่น วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) กรุงเทพฯ ปรางค์ของเดิมมีกำเนิดจากสิ่งก่อสร้างของอินเดียอย่างหนึ่ง คือ มีชั้นหลังคาซ้อนกันหลายชั้น ส่วนชั้นล่างสุดเป็นห้องมีประตู 4 ทิศ สำหรับประดิษฐานรูปศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพราหมณ์ เมื่อชาวอินเดียได้เข้ามาอยู่ที่สุวรรณภูมิก็ได้นำเอาแบบอย่างปรางค์ของอินเดียมาดัดแปลงแก้ไข และสร้างขึ้นในแผ่นดินที่เรียกว่า กัมพูชา ทุกวันนี้ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายแห่งในประเทศไทย เช่น ภาคอีสาน เป็นต้น
            ปรางค์แบบขอมที่อยู่ในไทยมีอยู่หลายแห่ง ปรางค์เหล่านี้สร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งไทยยังไม่ได้ครอบครองแผ่นดินประเทศไทย คือ ตั้งแต่ราว พ.ศ. 1100 เป็นต้นมา ปรางค์ที่เก่าแก่ คือ ปรางค์สามยอด ที่จังหวัดลพบุรี เป็นปรางค์ที่มีฐานต่ำ ทรงไม่สูงนัก สร้างด้วยศิลาแลง มีการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง แต่ยังเหลือสิ่งที่แสดงถึงแบบเดิมได้ชัดเจนอยู่ ปรางสามองค์นี้สร้างเรียงกันโดยมีมุขด้านข้างเป็นระเบียงติดต่อกันทั้งสามองค์ ในรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้มีการซ่อมแซมและสร้างสิ่งอื่นเพิ่มเติมขึ้นบ้าง ปัจจุบันยังตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมทางรถไฟ ตรงกับศาลพระกาฬ จังหวัดลพบุรี
ปรางค์แบบขอมที่สำคัญยังมีอีกหลายแห่ง เช่น ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น ในสมัยสุโขทัยเริ่มสร้างอาณาจักรนั้น ปรางค์ขอมยังมีอยู่ในสุโขทัยหลายแห่ง เช่น ที่วัดศรีสวาย ต่อมาจึงมีการสร้างปรางค์ขึ้นบ้าง โดยแก้ไขดัดแปลงจากแบบขอมให้มีลักษณะสวยงามขึ้นตามความรู้สึกและความคิดของคนไทย เช่น ปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ลักษณะปรางค์ของสุโขทัยนั้นเห็นได้ชัดว่า ยกฐานขึ้นสูงกว่าขอม และทำส่วนยอดให้สูงขึ้น มีคูหา 4 ทิศเหมือนกัน และเพิ่มบันไดด้านหนึ่งไว้เพื่อให้ผู้คนขึ้นไปสักการบูชาพระบรมธาตุได้สะดวก
            ต่อมาในสมัยอยุธยา การสร้างปรางค์ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ ได้มีการสร้างปรางค์ขึ้นเป็นรุ่นแรก เช่น ปรางค์ที่วัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนั้นยังมีปรางค์ที่งดงามอีกองค์หนึ่ง คือ พระปรางค์ที่วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลักษณะทั่วไปแม้จะมีฐานสูง แต่ก็ทำขึ้นสำหรับพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะแสดงให้เห็นว่าระยะนี้นิยมการสร้างปราสาทคล้ายแบบสุโขทัย คือ เป็นปรางค์องค์เดียว แล้วทำมุขคูหายื่นออกมา มีบันไดขึ้นไปยังมุขคูหานั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้มีการจำลองแบบของขอมมาดัดแปลงแก้ไขและสร้างขึ้น เช่น ที่วัดไชยวัฒนาราม เป็นต้น ที่กล่าวว่า “จำลองแบบของขอม” นั้น หมายถึง การวางแผนผังและการวางรูปเท่านั้น ส่วนสัดหรือรูปทรงตลอดจนส่วนละเอียดได้ออกแบบขึ้นใหม่ จึงสง่างาม และเป็นไปตามอุดมคติของไทย
            ในสมัยสุโขทัยพระปรางค์ที่นิยมสร้างมี 2 อย่าง คือ สร้างเป็นปรางค์ทั้งองค์อย่างหนึ่งและที่นำเอาส่วนยอดไปเป็นยอดปราสาททั้งองค์อย่างหนึ่ง เช่น ปราสาทเทพบิดร
            4. โบสถ์และวิหาร เป็นสิ่งก่อสร้างในพระพุทธศาสนา โบสถ์เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น การอุปสมบท การถวายกฐิน การฟังพระธรรมเทศนา ส่วนวิหารใช้เฉพาะการจำศีลภาวนา
            โบสถ์ต้องมีเสมาล้อมรอบ เพราะเสมาเป็นหลักแสดงเขตของโบสถ์ซึ่งกำหนดไว้ให้เป็นที่สำหรับพระสงฆ์มาประชุมทำพิธีต่างๆ ในทางศาสนา ส่วนวิหารไม่มีเสมา ทั้งโบสถ์และวิหารจะมีพระพุทธรูปเป็นพระประธานองค์ใหญ่อยู่ภายในเสมอ ลักษณะของโบสถ์และวิหารมักมีหลังคาสามเหลี่ยมใหญ่ซ้อนกันหลายชั้น บนยอดหลังคาแต่ละชั้นประกอบด้วย ช่อฟ้า ตัวนาคหรือนาคสะดุ้ง และใบระกา จั่วในหลังคาประดับด้วยภาพหรือลายแกะไม้ บางแห่งเป็นรูปปูนปั้นลงรักปิดทองและประดับกระจก ต่อจากตัวหลังคาที่แท้จริงลงมาก็มีหลังคาปีกนกเสริมต่อลงมาอีก 1 หรือ 2 ชั้น หลังคาสามเหลี่ยมนี้ตั้งอยู่บนผนังและเสา ผนังและเสาตั้งอยู่บนฐานซึ่งมีรูปร่างเหมือนฐานพระพุทธรูป
            5. บ้านไทย เรือนไทย เรือนไทยถูกสร้างให้มีลักษณะเข้ากับสภาพแวดล้อมทางด้านภูมิศาสตร์และสภาพดินฟ้าอากาศของเมืองไทย ตลอดจนการเอื้ออำนวยของวัสดุที่จะนำมาก่อสร้าง เรือนไทยจึงมีคุณสมบัติที่พิเศษโดยจะมีความเหมาะสมและสัมพันธ์กับสภาพดังกล่าวด้วย
            รูปร่างลักษณะอันแท้จริงของเรือนฝากระดานซึ่งเรียกกันว่า “ฝาประกน”(การนำเอาแผ่นไม้มาเพลาะต่อกันเข้าด้วยวิธีเจาะรางเข้าเหลี่ยมอย่างประณีตและแข็งแรง สิ่งที่น่าอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งก็คือ เรือนไทยไม่ใช้ตะปูตอกไม้ มีแต่ลิ่มที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง หลังคาต้องแหลมสูง ชายคางอนขึ้นเล็กน้อย และขื่อมักทำเป็น “ปั้นลม”
            หลังคาของเรือนไทยมักมุงด้วยจากหรือกระเบื้อง ลักษณะของกระเบื้องมีอยู่หลายชนิด การตั้งเสานิยมให้ปลายสอบเข้าหากันพองาม ส่วนหลังคานิยมสร้างทรงสูงระหง มีเชิงชายและต่อพะไลยื่นออกมา เพื่อกันแดดกันฝนไม่ให้สาดเข้ามาภายในได้ พื้นนิยมยกสูงเพื่อให้เดินลอดได้อย่างสบายและลมพัดผ่านได้สะดวก
            เรือนไทยนี้บางทีปลูกแต่เฉพาะหลังเดียว มีชานหน้าไว้สำหรับนั่งเล่นหรือปลูกเป็นเรือน 2 หลังแฝด มีชานกลางที่ เรียกว่า เรือนสองหลังแฝดนอกชานแล่นกลาง หรือปลูกเป็นหลายหลังที่เรียกว่า เรือนหมู่ มีนอกชานขยายออกกว้างเชื่อมติดต่อกันหมดทุกหลัง มีเรือนเล็กๆ หน้าเรือนใหญ่ เรียกว่า หอนั่ง ไว้สำหรับต้อนรับแขกที่ไปมาหาสู่หรือนิมนต์ พระสงฆ์มาฉันหรือประกอบพิธีทำบุญ ตรงกลางมักสร้างเป็น “หอกลาง” ใช้เป็นที่รับประทานอาหารและรับแขกที่สนิท “หอพระ” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปบูชา “หอนก” ใช้สำหรับพักอาศัยนั่งเล่น นอนเล่น แต่เดิมน่าจะใช้เป็นที่สำหรับแขวนกรงนกเขา ใต้ถุนเรือนเป็นที่วางเครื่องใช้ที่หนักๆ เช่น ครกตำข้าว โม่หิน ครกหิน หูกทอผ้า และเครื่องปั่นด้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น